Feeds:
Posts
Comments

ตอนนี้ได้ทำบล็อกใหม่ขึ้นมาแทนบล็อคเก่าเนื่องจากไม่ได้อับเดตที่นี่เป็นเวลานาน อีกทั้งบทความเก่าๆ ที่อยู่บนบล็อคนี้  มีการสะกดคำผิดอยู่มากมาย จึงอยากแก้ไขใหม่หมดเลยค่ข

ข้างล่างนี้เป็นลิ้งค์ของบล็อคใหม่ ซึ่งจะทยอยอับเดตทั้งบทความเก่าและใหม่เรื่อยๆ ค่ะ อินชาอัลลอฮฺ

http://anabintalislam.wordpress.com/

วิธีที่ 7 นกทั้งหลายมิได้แสวงหาอาหารได้ด้วยตัวของมันเอง
—————————————-——————–

อัลลอฮฺ คือ ผู้ทรงให้

“มีสัตว์กี่ชนิดที่มันไม่ได้แสวงหาเครื่องยังชีพของมันเอง “อัลลอฮฺ” คือผู้ทรงประทานเครื่องยังชีพแก่พวกมันและพวกเจ้า เพราะพระองค์ทรงได้ยินและทรงรู้ในทุกสิ่ง” (อัลกุรอาน 29:60)

ด้วยการย้ำเตือนตัวของท่านเองอยู่เสมอว่า อัลลอฮฺคือผู้ทรงให้ ท่านจะได้รำลึกว่าการที่ท่านมีงานทำหรือการมีความสามารถที่จะดูแลครอบครัวของท่านในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจและการเมืองอยู่ในความเสี่ยงเช่นนี้ – เมื่อบรรดามุสลิมมักจะเป็น “ทางเลือกสุดท้าย” ที่จะถูกจ้าง และมักจะเป็น “ทางเลือกแรก” ที่จะถูกไล่ออก – แท้จริงแล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้นั้นอยู่ในพระหัตถ์ของอัลลอฮฺ มิได้อยู่ที่ตัวของท่านเองแต่อย่างใด ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า “และอัลลอฮฺทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาจากที่ที่เขามิได้คาดคิด และผู้ใดมอบหมายแด่อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะทรงเป็นผู้พอเพียงแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงบรรลุในกิจการของพระองค์โดยแน่นอนสำหรับทุกสิ่ง อย่างนั้นอัลลอฮฺทรงกำหนดกฎสภาวะไว้แล้ว” (อัลกุรอาน 65:3)

ความดีงาม อันดับที่ 8 เยี่ยมผู้ป่วย
แหล่งที่มา
http://1000gooddeeds.com/2009/08/28/8-visit-the-sick/

ท่านอบู ฮุร็อยรอฮฺ รอฏิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ ตะอาลา จะตรัสว่า “โอ้ลูกหลานอดัมเอ๋ย ยามข้าป่วย เจ้ามิได้มาเยี่ยมข้าเลย” เขาจะกล่าวว่า “โอ้ อัลลอฮฺ ข้าพระองค์จะไปเยี่ยมท่านได้อย่างไร ในเมื่อท่านเป็นพระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”  พระองค์จะตรัสว่า “เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่า มีบ่าวของข้ามากมายที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยอยู่ เจ้าจะไม่ไปเยี่ยมพวกเขาเชียวหรือ? เจ้าไม่รู้ดอกหรือว่าหากเจ้าไปเยี่ยมพวกเขา เจ้าก็จะได้พบข้าอยู่กับพวกเขา..” (ศอหีฮฺมุสลิม)

ท่านอลี รอฏิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า ท่านรอซูลลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อมุสลิมคนหนึ่งเยี่ยมเยียนพี่น้องมุสลิมของเขาที่กำลังเจ็บป่วยในยามเช้า มะลาอิกะฮฺจำนวนเจ็ดหมื่นท่านจะขอดุอาอฺให้แก่เขาจนถึงยามเย็น และเมื่อเขาเยี่ยมเยี่ยนพี่น้องมุสลิมของเขาในยามเย็น มะลาอิกะฮฺจำนวนเจ็ดหมื่นท่านจะขอดุอาอฺให้แก่เขาจนถึงรุ่งเช้า และเขาจะได้รับ “สวน” ในสวรรค์เป็นรางวัลการตอบแทน” (ติรฺมิซียฺ :จัดระดับว่าเป็นหะดีษที่ศอหีฮฺโดยอัล อัลบานียฺในศอหีฮฺ อัตติรฺมิซียฺ)

จากการรายงานโดยอะหมัดและอบู ดาวูด (3106) ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่เยี่ยมเยียนคนป่วยที่ยังไม่เสียชีวิต และเขากล่าวต่อผู้ป่วยว่า “อัสอะลุลลอฮัลอะซีม, ร็อบบัล อัรชิล อะซีม, อัน ยัชฟิยะกะ” จำนวนเจ็ดครั้ง (หมายถึง ฉันขอต่ออัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งราชบัลลังค์อันยิ่งใหญ่ ให้ทรงเยียวยารักษาท่าน) อัลลอฮฺจะทรงเยียวยาความเจ็บป่วยนั้นแก่เขา” (จัดว่าเป็นหะดีษศอหีฮฺโดย อัล อัลบานียฺ ในศอหีฮฺ อบู ดาวูด)

แผนปฏิบัติการ

มารยาทของการเยี่ยมผู้ป่วย

1.       ขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วยและให้เขามีสุขภาพแข็งแรง อีกทั้งคอยกระตุ้นเตือนให้ผู้ป่วยมีความอดทนต่อความทุกข์ ความเจ็บป่วยที่เขากำลังประสบ

2.       พูดแต่สิ่งที่ดีเพื่อเป็นการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย  มีหะดีษหนึ่ง บันทึกโดย อัตติรมิซียฺ แต่เป็นหะดีษที่อ่อน รายงานว่า:: ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “เมื่อท่านเข้าไปเยี่ยมผู้ป่วย และปลอบโยนเขาว่าเขาจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป มันจะไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งใด เว้นแต่มันจะสร้างขวัญกำลังใจของเขาให้สูงขึ้น” (จัดว่าเป็นหะดีษฎออีฟ (อ่อน) โดย อัล อัลบานียฺใน ฎออีฟ อัตติรฺมิซียฺ)

3.       เมื่อท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม เยี่ยมผู้ป่วย ท่านจะกล่าวต่อเขาว่า “จงอย่ากังวล มันเป็นหนทางหนึ่งของการชำระล้างบาป (ของท่าน) ให้บริสุทธิ์ อินชาอัลลอฮฺ”  (ลา บะซ่า ฏอฮูรุน อินชาอัลลอฮฺ)  รายงานโดย บุคอรียฺ

4.       ไม่ควรเยี่ยมผู้ป่วยเป็นเวลานาน ควรใช้ระยะเวลาสั้นๆ ในการเข้าเยี่ยม และไม่ควรเข้าเยี่ยมบ่อยเกินไป เพราะมันอาจกลายเป็นภาระและสร้างความลำบากใจต่อผู้ป่วย เว้นแต่ผู้ป่วยปรารถนาให้เข้าเยี่ยมเป็นเวลานาน และบ่อยครั้ง

5.       พึงระลึกว่า “ผู้ที่เราเข้าเยี่ยม” คือ “คนป่วย” ดังนั้นเราควรใช้สามัญสำนึก รอยยิ้ม และการคิดในด้านดีขณะเข้าเยี่ยม และอย่าแสดงความรู้สึกที่เป็นด้านลบขณะอยู่กับผู้ป่วย เป้าหมายของการเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลคือการทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจ

6.       พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดี เรื่องที่สร้างความสุข ให้กับผู้ป่วย ไม่ใช่การบอกเล่าข่าวร้าย หรือเรื่องร้ายๆ ที่เกิดขึ้น และอย่าพูดถึงความเจ็บป่วยของเราในอดีต

7.       ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยในทุกๆ ด้านเท่าที่จะทำได้ และควรแน่ใจว่าเขาได้รับการดูแลอย่างดี

ดุอาอฺสำหรับผู้ป่วย

لا بَأسَ طَهُورٌ إِنْ شَاءَ اللّهُ

(ลา บะซ่า ฏอฮูรุน อินชาอัลลอฮฺ)

“จงอย่ากังวล มันเป็นหนทางหนึ่งของการชำระล้างบาป (ของท่าน) ให้บริสุทธิ์ อินชาอัลลอฮฺ”

(ศอหีฮฺ อัลบุคอรียฺ – อัล-อัสเกาะลานีย์ – ฟัตหุลบารียฺ 10/118)

أسْألُ اللّهَ الْعَظِيمَ رَبَّ الْعَرْشِ الْعَظِيمِ أَنْ يَشْفِيَكَ

“อัสอะลุลลอฮัลอะซีม, ร็อบบัล อัรชิล อะซีม, อัน ยัชฟิยะกะ” (เจ็ดครั้ง)

ฉันขอต่ออัลลอฮฺ พระผู้อภิบาลแห่งราชบัลลังค์อันยิ่งใหญ่ ให้ทรงเยียวยารักษาท่าน

(อัตติรมิซียฺ 2/210, อบูดาวูด, ศอฮีห อัล-ญามิอัซซาฆีร 5/180)

ความดีงามอันดับที่ 7 การใช้มิสวาก
แหล่งที่มา
http://1000gooddeeds.com/2009/08/27/7-use-a-miswak/

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ รอฏิยัลลอฮุ อันฮา รายงานว่า “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “มิสวาก” (ไม้ขัดฟัน) ใช้ทำความสะอาดและชำระล้างปากให้บริสุทธิ์และสร้างความพึงพอพระทัยต่อพระผู้อภิบาล” (อัลนะซาอียฺ และอิบนุ คุซัยมะฮฺ)

ท่านอุมัรฺ รอฏิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า  “จงหมั่นใช้มิสวากเป็นประจำ เพราะแท้จริงแล้ว มันทำให้สุขภาพปากนั้นแข็งแรงและเป็นที่พึงพอพระทัยยิ่งสำหรับพระผู้ทรงสร้าง (คือ อัลลอฮฺ ทรงพึงพอพระทัยต่อมุสลิมที่ใช้มิสวากในการทำความสะอาดฟัน) (บุคอรียฺ)

ท่านอนัส รอฎิยัลลอฮุ อันฮุ รายงานว่า “ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ฉันขอเน้นย้ำต่อพวกท่านให้ใช้มิสวาก” (บุคอรียฺ)

แผนปฏิบัติการ

วิธีการใช้มิสวาก

1.        ขูดตรงปลายมิสวากออกประมาณ 1 นิ้ว ด้วยมีด หรือคัตเตอร์
2.        จากนั้นให้เคี้ยวที่ปลายเบาๆ จนกระทั่ง มิสวากมีลักษณะเหมือนขนแปรง
3.        ใช้มิสวากแปรงที่ฟันในแนวขนาน
4.        หลังจากแปรงเสร็จแล้วให้ล้างปลายมิสวาก
5.        เก็บมิสวากไว้ในกล่องหรือถุง เพื่อป้องกันความสกปรก
6.        ก่อนเข้านอนให้นำเอา “มิสวาก” ออกมาแช่ไว้ในแก้วน้ำ โดยนำ “ส่วนที่ใช้แล้ว” แช่น้ำเอาไว้ และทิ้งไว้ทั้งคืน
7.        ตอนเช้า ตัดส่วนที่เป็นขนแปรงออกและเริ่มทำตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 อีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีขนแปรงที่สะอาดทุกวัน เพื่อเกิดผลดีและเกิดประสิทธิภาพที่ดีต่อสุขภาพฟัน

ดูวิธีการใช้ได้ที่นี่  http://www.youtube.com/watch?v=Ox7rXUeaVzs

ข้อดีและประโยชน์ของมิสวาก

–         ช่วยขจัดกลิ่นปาก
–         เพิ่มพูนผลบุญในการละหมาด  — ท่านรอซูล (ศล) กล่าวว่า “หากฉันไม่เกรงว่ามันจะสร้างความยากลำบากต่ออุมมะฮฺของฉัน ฉันจะสั่งใช้ให้พวกเขาใช้มิสวาก (แปรงฟัน) พร้อมกับการอาบน้ำละหมาดทุกๆ ครั้ง และทุกๆ การละหมาด” (บุคอรียฺ) และอีกหะดีษ ท่านหญิงอาอิชะฮฺรายงานว่า “แท้จริงแล้ว ท่านรอซูล (ศล) มักจะใช้มิสวากก่อนอาบน้ำละหมาด เมื่อใดก็ตามที่ท่านตื่นนอน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างกลางคืน หรือกลางวัน” (อบู ดาวูด)
–         ชัยตอนรังเกียจผู้ที่ใช้มิสวาก (แปรงฟัน)
–         จากการค้นคว้าทางทันตกรรมพบว่า มีข้อมูลน่าสนใจมากมายเกี่ยวกับ “มิสวาก” และจากการวิเคราะห์ทางเคมีได้ปรากฎว่า “มิสวาก” ประกอบด้วยสารธรรมชาติ 19 อย่าง ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพช่องปากและฟัน สารระงับเชื้อทางธรรมชาติของมิสวากมีปฏิกิริยาต่อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ภายในช่องปาก กรดแทนนิคประกอบด้วยคุณสมบัติของยาสมานแผลที่ช่วยป้องกันโรคเหงือก น้ำมันหอมของมิสวากจะช่วยในการเพิ่มการหลั่งของน้ำลายให้มากขึ้น  ด้วยเพราะมิสวากมีสารระงับเชื้ออยู่ภายใน จึงไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดมิสวาก อีกทั้งขนแปรงของมิสวากนั้นอยู่ในแนวขนานกับด้ามจับ ดังนั้นจึงทำให้การทำความสะอาดฟันด้วยมิสวากนั้นเข้าถึงระหว่างฟันง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะในบริเวณที่มักจะยากต่อการทำความสะอาด

بنت الاٍسلام

วิธีจัดการกับความเครียดและความกังวล วิธีที่ 5
จากบทความ 25
Ways to Deal with Stress and Anxiety โดยอับดุลมาลิก มุญาฮีดฺ

วิธีที่ 5 ขอความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺด้วยการซอบัรฺ

และพวกเจ้าจงอาศัย “การซอบัรฺ” (ความอดทน) และ “ศอลาตฺ” (การละหมาด) เถิด (อัลกุรอาน 2:45) จากอายะฮฺดังกล่าว อัลลอฮฺได้ทรงประทาน “เครื่องมือ” สองอย่างนี้แก่เราเพื่อใช้ในการบรรเทาความกังวลและความเจ็บปวดทั้งหลาย

“ความอดทน” และ “การละหมาด” คือเครื่องมือกำจัดความเครียด  อย่างไรก็ตาม คำว่า “ซอบัรฺ” มักจะถูกให้ความหมายว่าคือ “ความอดทน” แต่แท้จริงแล้ว “ซอบัรฺ” มีความหมายมากกว่านั้น เพราะคำนี้ยังมีความหมายรวมไปถึง “การควบคุมตัวเอง ความเพียรพยายาม ความอดกลั้น และการดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”  ซึ่งแตกต่างจากคำว่า “ความอดทน” เพียงอย่างเดียว ที่มีความหมายโดยนัยว่า  “ยอมจำนน รับสภาพ” ดังนั้น “ความหมายของคำว่า “ซอบัรฺ” จึงรวมถึงหน้าที่ในการมุ่งมั่นยืนหยัดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแม้ว่าจะมีอัตราความเสี่ยงอยู่ก็ตาม

“การมีความอดทน” ทำให้เรามี “การควบคุม” ต่อสถานการณ์ที่เรารู้สึกว่าการควบคุมของเรานั้นมีจำกัดหรือไม่มีเลย

“เราไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราได้หากแต่เราสามารถควบคุมปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นได้” คือ สูตรที่ “หนังสือแนวคิดในการช่วยเหลือตัวเอง” ส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักใช้กันอย่างแพร่หลาย  “ความอดทน” จะช่วยทำให้เรามีสติทั้งในด้านความคิดและการกระทำเมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากใดๆ ก็ตาม

بنت الاٍسلام

ความดีงามอันดับที่ 6 :: ปลูกต้นไม้
Source: http://1000gooddeeds.com/2009/08/26/plant-a-tree/

“หรือผู้ใดเล่าที่สร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และทรงหลั่งน้ำจากฟากฟ้าแก่พวกเจ้าแล้วเราได้ให้สวนต่าง ๆงอกเงยอย่างสวยงาม พวกเจ้า ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ต้นไม้งอกเงยขึ้นมาได้ จะมีพระเจ้าอื่นคู่เคียงกับอัลลอฮฺอีกหรือ ? เปล่าดอก! พวกเขาเป็นหมู่ชนผู้ตั้งภาคี” (อัลกุรอาน 27:60)

ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “เมื่อใดก็ตามที่มุสลิมทำการปลูกต้นไม้ พวกเขาจะได้รับรางวัลการตอบแทนแห่งการศอดะกอฮฺ (บริจาค) เนื่องมาจากอาหาร (พืชผล) ที่ออกมาจากต้นไม้นั้น และเช่นเดียวกัน สิ่งที่ถูกนำออกมาจากมัน (ต้นไม้) สิ่งที่สัตว์ดุร้ายกินจากมัน  สิ่งที่นกทั้งหลายกัดกินจากมัน และสิ่งที่ผู้คนทั้งหลายนำออกมาจากมัน นั่นคือ “การศอดะกอฮฺ” สำหรับพวกเขา” (มุสลิม 2904)

ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “มุสลิมย่อมได้รับรางวัลการตอบแทนของการบริจาค สำหรับการปลูกต้นไม้ การหว่านพืชผล และบรรดานก มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลายได้กินจากมัน” (บุคอรียฺ 3::39:513)

แผนปฏิบัติการ

1.        จัดตั้งโครงการปลูกผัก ผลไม้ในพื้นที่วะกัฟ เพื่อช่วยเหลือคนยากจน

2.        ปลูกต้นไม้บริเวณบ้านและสอนการปลูกต้นไม้ให้กับบุตรหลาน

3.        นำเสนอการเรียนการสอนในเรื่องของการปลูกพืชผลและการเก็บเกี่ยวให้กับโรงเรียนภายในพื้นที่ และนำผลผลิตทั้งหมดที่ได้ไปบริจาค

4.        บริจาคต้นไม้ ให้กับองค์กรในพื้นที่

5.        จัดตั้งกรรมการ “พื้นที่สีเขียว” ในพื้นที่ และส่งเสริมให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างความสวยงามให้กับชุมชน พื้นที่ใกล้เคียง

หมายเหตุ เราควรตระหนักเสมอว่าในการทำความดีงามนั้น เราจำต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์ที่จะกระทำสิ่งนั้นๆ เพื่อความพึงพอพระทัยต่ออัลลอฮฺ ขอให้ความดีงามทั้งหลายของเราได้รับการตอบรับจากพระองค์ด้วยเถิด อามีน

بنت الاٍسلام

“เครื่องมือดะวะฮฺ”
แหล่งที่มา บทความ
The Greatest Da’wah Tool
http://idealmuslimah.com/calling-to-allah/methods-and-techniques/366-thegreatest-dawah-tool


เขียนโดย อะหมัด อิบนุ อับดุลรอฮฺมาน อัซซะวียาน Ahmad ibn ‘Abd al-Rahmân al-Swiyân

ขณะที่ผม (ผู้เขียน: อะหมัด) กำลังเดินทางกลับจากการเดินทางอันแสนยาวนานโดยเครื่องบิน อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้ผมได้นั่งติดกับกลุ่มเด็กวัยรุ่นชายกลุ่มหนึ่งที่เสียงหัวเราะของพวกเขานั้นดังสร้างความรบกวนอย่างมาก อีกทั้งอากาศภายในนั้นเต็มไปด้วยควันบุหรี่ของพวกเขา และด้วยพระปรีชาญาณของอัลลอฮฺ ที่นั่งทุกที่บนเครื่องบินลำนั้นเต็มไปด้วยผู้โดยสาร และผมก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนไปนั่งที่อื่นได้

ผมพยายามที่จะหนีปัญหาด้วยการนอน แต่ผมก็ทำไม่ได้  เมื่อผมเริ่มทนไม่ไหวกับเสียงของกลุ่มเด็กวัยรุ่นพวกนั้น ผมจึงหยิบมุศฮัฟ (อัลกุรอาน) ขึ้นมา และเริ่มอ่านอัลกุรอานด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล  แลังจากนั้นไม่นานวัยรุ่นกลุ่มนั้นจึงเริ่มเงียบลง บางคนก็อ่านหนังสือพิมพ์และบางคนก็นอนหลับไป

ทันใดนั้น วัยรุ่นคนหนึ่งก็พูดขึ้นมาด้วยน้ำเสียงที่ดัง แม้ว่าเขาจะนั่งอยู่ข้างๆ ผมก็ตาม ว่า “พอได้แล้ว พอสักที!!”

ผมคิดว่าผมคงรบกวนเขาเพราะเสียงของผมนั้นอาจจะดังเกินไป ดังนั้น ผมจึงกล่าวขอโทษเขาและอ่านอัลกุรอานต่อไปด้วยน้ำเสียงที่เบาที่มีเพียงแต่ผมเท่านั้นที่สามารถได้ยินได้  แต่ผมก็เห็นวัยรุ่นคนดังกล่าวใช้มือกุมขมับของเขา  และมีอาการกระวนกระวาย กระสับกระส่ายไปมาอยู่ตรงที่นั่งของเขา สักพักเขาก็เงยศรีษะขึ้นและพูดกับผมด้วยความโกรธว่า  “ขอทีเถอะ ช่วยหยุดสักที ผมทนไม่ไหวแล้วนะ!!”

จากนั้นหนึ่งเขาก็ลุกขึ้นจากที่นั่งและเดินออกไป สักพักหนึ่งเมื่อเขากลับมา เขาก็กล่าวทักทายผมด้วย “สลาม” และขอโทษผม  และเขาก็นิ่งเงียบลง ผมไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็หันหน้ามาหาผมพร้อมด้วยดวงตาที่เต็มไปด้วยน้ำตาทั้งสองข้างและพูดกับผมเบาๆ ว่า

“มันเป็นระยะเวลาประมาณสามปี หรือมากกว่านั้นที่หน้าผากของผมไม่ได้แตะลงพื้นเลย (สุญูด) และผมก็ไม่ได้อ่านอัลกุรอานแม้แต่อายะฮฺเดียว

ตลอดทั้งเดือนที่ผมเดินทางในครั้งนี้ ไม่มีความชั่วใดๆ ที่ผมไม่ได้ทำ จนกระทั่งผมเห็นคุณอ่านอัลกุรอาน และโลกของผมก็กลายเป็นสีดำ หัวใจของผมเต็มไปด้วยความสิ้นหวัง ผมรู้สึกเหมือนมีใครกำลังบีบคอผม ผมรู้สึกได้ว่าทุกๆ อายะฮฺที่คุณอ่านสัมผัสบนร่างกายของผมเหมือนการถูกเฆี่ยนด้วยแส่

ผมถามตัวเองว่า ผมจะอยู่กับ “ความเพิกเฉย” นี้ไปอีกนานแค่ไหน?  หนทางที่ผมเดินอยู่นี้จะนำพาผมไปที่ใด? อะไรจะเกิดขึ้นหลังจากความสนุกสนานทั้งหมดนี้? หลังจากตั้งคำถามกับตัวเอง ผมก็เดินไปเข้าห้องน้ำ คุณรู้ไหมว่าทำไม?

…ผมรู้สึกจุกอกขึ้นมาอย่างมากจนต้องร้องไห้ และผมไม่รู้จะไปที่ไหนที่จะหลบสายตาของผู้คน!”

ผม (ผู้เขียน) จึงบอกกับเขาเกี่ยวกับเรื่องของการเตาบัต (ขออภัยโทษ) และการหันกลับสู่อัลลอฮฺ จากนั้นเขาจึงสงบลง

เมื่อเครื่องบินบินลงสู่พื้นดิน เขาก็หยุดผม เหมือนกับว่าเขาต้องการที่จะออกห่างจากเพื่อนๆ ของเขา  เขาถามผมด้วยสีหน้าที่จริงจังว่า “คุณคิดว่าอัลลอฮฺจะทรงตอบรับการขออภัยโทษของผมมั้ย?” ผมตอบว่า “หากคุณจริงใจและจริงจังต่อการสำนึกผิด อัลลอฮฺย่อมอภัยโทษให้กับความผิดทั้งหมดของคุณ”

เขากล่าวว่า “แต่ผมได้ทำสิ่งที่ชั่วร้าย  มันชั่วร้ายมากๆ”

ผมตอบว่า “คุณไม่เคยได้ยินสิ่งที่อัลลอฮฺตรัสไว้หรือว่า “โอ้ อิบาดียฺ (ปวงบ่าวของฉัน) ที่ได้ละเมิดต่อตัวของพวกเขาเอง (โดยการข้องเกี่ยวกับการกระทำชั่วและบาปทั้งหลาย) จงอย่าสิ้นหวังต่อพระเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺทรงอภัยโทษต่อความผิดบาปทั้งหลาย แท้จริงอัลลอฮฺคือผู้ทรงอภัย และทรงเมตตายิ่ง” (อัล ซุมัรฺ 39:53)?

ผมเห็นเขายิ้มด้วยความสุข และดวงตาของเขาเต็มไปด้วยน้ำตา  จากนั้นเขาก็กล่าวร่ำลาผมและจากไป ซุบฮานัลลอฮัลอะซีม

ไม่ว่าความชั่วหรือบาปของชายคนนั้นจะมากมายสักเพียงใด แต่ในหัวใจของเขา นั้นมีเมล็ดแห่งความดีงามซ่อนอยู่ หากเพียงแค่เราสามารถเข้าถึงเมล็ดแห่งความดีงามนั้นและทำให้มันเติบโตได้ มันย่อมผลิดอก ออกผล อินชาอัลลอฮฺ

“เมล็ดแห่งความดีงาม” นี้มักจะทำการต่อสู้อยู่ในหัวใจของมนุษย์ แม้ว่ามันจะถูกปกปิดด้วยชั้นของความคิดเและความใคร่ต่างๆ ก็ตาม แต่เมื่ออัลลอฮฺทรงประสงค์ให้เกิดความดีงามต่อบ่าวของพระองค์ พระองค์จะทรงประทานซึ่งแสงแห่งทางนำให้ส่องสว่างในหัวใจของเขา และนำทางเขาสู่หนทางของบรรดาผู้ที่ได้รับทางนำ ดังที่อัลลอฮฺทรงตรัสว่า

“และผู้ใดก็ตามที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ที่จะนำทางเขา พระองค์จะทรงเปิดทรวงอกเขาสู่อิสลาม และผู้ใดก็ตามที่พระองค์ประสงค์ให้เขาหลงทาง พระองค์จะทรงทำให้ทรวงอกของเขาคับแคบ เสมือนว่าเขากำลังปืนป่ายขึ้นไปยังท้องฟ้า (อัล อันอาม 6:125)

จากนิตยสาร Al Bayan เล่มที่ 152 ร่อบีอุ้ลอาคิร 1421 หน้าที่ 66-67

بنت الاٍسلام

วิธีจัดการกับความเครียดและความกังวล วิธีที่ 4
จากบทความ 25 Ways to Deal with Stress and Anxiety โดยอับดุลมาลิก มุญาฮีดฺ

วิธีที่ 4 ละทิ้ง “โลกดุนยา” ไว้เบื้องหลัง 5 เวลา ต่อวัน
————————————————————–
จงทำให้ “การละหมาดห้าเวลาทุกวัน” เป็นหนทางที่นำท่านไปสู่ “โลกอาคิเราะฮฺ” ให้มากยิ่งขึ้น และใกล้ชิดกับ “โลกดุนยานี้” ให้น้อยลง จงละทิ้งจากโลกดุนยาทันทีที่ท่านได้ยินเสียงอาซาน “การเรียกร้องไปสู่การละหมาด” เมื่อท่านทำการวุฏุอฺ (อาบน้ำละหมาด) ท่านจงพร่ำกล่าวชะฮาดะฮฺ อันเป็นการปฏิญานความศรัทธา ขณะที่น้ำสัมผัสผ่านลงใบหน้า ฝ่ามือ แขน และเส้นผมของท่าน  และขณะที่ท่านยืนรอพร้อมที่จะละหมาด จงเตรียมใจของท่านให้ละทิ้ง (ความเป็นไปของ) “โลกใบนี้” และ “ความกังวัลและความเครียดทั้งหลาย” ไว้เบื้องหลัง

แน่นอนว่า ชัยตอนย่อมพยายามที่จะล่อลวงท่านขณะละหมาด แต่เมื่อใดก็ตามที่สิ่งนี้เกิดขึ้น ท่านจำต้องเรียกสติกลับขึ้นมาและรำลึกถึงอัลลอฮฺ ยิ่งท่านกลับมาสู่พระองค์มากเท่าไหร่ อัลลอฮฺจะทรงตอบแทนรางวัลแก่ท่านมากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งท่านจำต้องแน่ใจว่า การซัจญดะฮฺของท่าน (การหมอบกราบ) คือการซัจญฺดะฮฺ ที่ท่านกำลังทำการเข้าหาอัลลอฮฺและขอความเมตตาของพระองค์ สรรเสริญพระองค์ และวิงวอนขอการอภัยโทษจากพระองค์

بنت الاٍسلام

วิธีจัดการกับความเครียดและความกังวล วิธีที่ 3
จากบทความ
25 Ways to Deal with Stress and Anxiety โดยอับดุลมาลิก มุญาฮีดฺ

วิธีที่ 3 จงระลึกว่า “หน้าที่ความรับผิดชอบของมนุษย์มีขีดจำกัด”
——————————————————————————-

ขณะที่เราต้องปฏิบัติหน้าที่ของเราให้ดีอย่างสุดความสามารถ เราก็จำต้องรำลึกอยู่เสมอด้วยว่าเราไม่ได้เป็นผู้ที่ควบคุมผลลัพธ์ของเหตุการณ์ต่างๆ แม้แต่บรรดานบีเองก็มิได้เป็นผู้ที่ควบคุมผลลัพธ์จากความพยายามทั้งหลายของพวกท่าน พวกท่านประสบความสำเร็จในบางสิ่ง และไม่ประสบความสำเร็จในบางสิ่ง ดังนั้นเมื่อเราทำหน้าที่ของเราเรียบร้อยแล้ว เราจำต้องมอบหมายต่ออัลลอฮฺ  ไม่ว่าผลจากความพยายามของเราจะเป็นอย่างไรก็ตาม เราย่อมได้รับรางวัลการตอบแทนจากส่วนที่เราได้กระทำไป

อย่างไรก็ตาม จงอย่าดูถูกความสามารถของเรา จงทำความเข้าใจกับความหมายของ “บะรอกัต” (ความเป็นสิริมงคลจากอัลลอฮฺ) และจงระลึกไว้ว่าอัลลอฮฺทรงสามารถ และ อินชาอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงเพิ่มพูนบะรอกัตแก่ท่านให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น หากท่านพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อไปสู่หนทางที่ถูกต้องด้วยความบริสุทธิ์ใจ

بنت الاٍسلام

ความดีงาม อันดับที่ 5 : การกำจัดสิ่งกีดขวาง
แหล่งที่มา http://1000gooddeeds.com/
————————————-

ท่านอบู ฮุรอยรอฮฺรายงานว่าท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “ความศรัทธา มีมากกว่าหกสิบแขนง และที่ดีที่สุดในนั้นคือ คำกล่าวว่า  “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจาก อัลลอฮฺ” และที่ดีน้อยที่สุดในนั้นคือการกำจัดสิ่งกีดขวางออกจากทางเดิน” (เห็นพ้องต้องกัน) ริยาฎุซซอลีฮีน

ท่านอบู ซัรฺรายงานไว้ด้วยว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “การกระทำแห่งประชาชาติของฉัน มีทั้งความดีและความชั่วที่ปรากฏตรงหน้าฉันและฉันพบว่า ในบรรดาการกระทำอันดีงามของพวกเขาคือ การกำจัดสิ่งกีดขวางออกจากทางเดิน และฉันพบว่า ในบรรดาการกระทำอันชั่วร้ายของพวกเขาคือ การถ่มน้ำลายในมัสยิดโดยไม่ได้มีการกลบดินฝัง” (มุสลิม) ริยาฎซซอลีฮีน

ท่านอบู ฮูรอยรอฮฺ กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะซัลลัม กล่าวว่า “อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย คือการทำศอดะกอฮฺ ทุกๆ วันที่ดวงอาทิตย์ขึ้น เมื่อบุคคลหนึ่งทำการตัดสินระหว่างคนสองคน (ที่ขัดแย้งกัน) ด้วยความยุติธรรม นั่นคือ การศอดะกอฮฺ, การให้ความช่วยเหลือคนคนหนึ่งในการขับขี่พาหนะ (สมัยก่อน ขี่อูฐ ขี่ม้า)  และการช่วยคนคนหนึ่งขึ้นพาหนะ คือการศอดะกอฮฺ หรือการช่วยยกสัมภาระขึ้นพาหนะ คือการศอดะกอฮฺ, คำพูดที่ดี คือการศอดะกอฮฺ และทุกๆ ก้าวย่างที่เดินไปยังมัสยิดเพื่อทำการละหมาดคือการศอดะกอฮฺ อีกทั้งการขจัดสิ่งกีดขวางออกจากเส้นทาง ก็คือนการศอดะกอฮฺเช่นกัน” (เห็นพ้องต้องกัน) ริยาฏซซอลีฮีน

แผนปฏิบัติการ
—————
เราจะกำจัดสิ่งกีดขวางอย่างไร

1.        ตรวจสอบดูว่า “สิ่งกีดขวางนั้นๆ” คืออะไร  การที่สามารถระบุได้ว่าสิ่งกีดขวางคืออะไรและทราบว่าเหตุใดสิ่งกีดขวางเหล่านั้นจึงก่อให้เกิดปัญหา คือขั้นตอนแรกของการดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวาง

2.        ทำการกำจัดสิ่งกีดขวางนั้นด้วยตัวเอง คือการจัดการกับมันโดยที่ไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ซึ่งมันเป็นการง่ายที่เราจะลุกขึ้นมาและกำจัดสิ่งนั้นออกจากทางเดินด้วยตัวเอง  เช่น

–         เก็บก้อนอิฐ หรือหินออกจากถนน

–         เก็บเศษขยะบนทางเดินไปทิ้งในถังขยะ

–         ทำความสะอาดมัสยิด

–         กำจัดกิ่งไม้เล็กๆ ที่กีดขวางเส้นทาง อันเป็นสาเหตุทำให้การจราจรติดขัด (เราจำต้องระวัง และตรวจสอบให้แน่ใจว่ามันจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ หากคุณกำจัดมันด้วยตัวเอง)

3.        หาผู้ช่วยในการดำเนินการ – คุณควรระบุให้ชัดเจนว่า สิ่งกีดขวางคืออะไร และเสนอแนะวิธีการต่อผู้ดำเนินการ  ซึ่งบางครั้งการหาผู้ช่วยมาดำเนินการ ย่อมเป็นการดีกว่า หากว่าการกำจัดสิ่งกีดขวางบางอย่างนั้นอาจจะใช้เวลานาน หรือต้องใช้ทักษะ ความรู้ ที่คุณไม่มี ในการดำเนินการ เป็นต้นว่า

–         โทรเรียกการประปาให้มาดำเนินการจัดการเมื่อท่อน้ำแตก

–         โทรเรียกสถานีดับเพลิงเมื่อมีต้นไม้ใหญ่หักลงมากีดขวางกลางถนน

–         โทรหาศูนย์จราจรหากมีสิ่งกีดขวางบนทางถนน

بنت الاٍسلام